ชาสมุนไพรกับการดื่มชา
ชาจากต้นชามีประโยชน์กับสุขภาพ แต่ชาจากสมุนไพรมีสรรพคุณต้านโรคโดยตรงเสียยิ่งกว่า ชาวตะวันตกดื่มชาสมุนไพรมานมนานแล้ว สมุนไพรที่นิยมนำมาทำชาในสมัยก่อนมี อาทิ สะระแหน่ กานพลู ผิวเลมอน และดอกจันทน์เทศ เป็นต้น แต่ตอนนั้นฝรั่งเรียกชาสมุนไพรว่า “tisane” (อ่าน ติ-แชน) เพิ่งเปลี่ยนมาเรียก herbal tea ในสมัยปลายศตวรรษที่ 20 นี่เอง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ชาสมุนไพรได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็วในฐานะเครื่องดื่มสุขภาพ ในตะวันตกสมุนไพรที่นิยมนำมาชงเป็นชามีมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ดอกคาร์โมไมล์ รากวาเลเรียน (valerian) ดอกเซนต์จอห์น เวิร์ท (St.John’s Wort) เมล็ดเฟนเนล เป็นต้น ในตะวันออก ซึ่งอุดมด้วยสมุนไพรเขตร้อนอยู่แล้ว ชาสมุนไพรหลายๆ ตัวได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางอยู่แล้วว่ามีสรรพคุณรักษาโรค โดยเฉพาะชาสมุนไพรจีน เช่น น้ำเก๊กฮวย น้ำใบบัวบก น้ำจับเลี้ยง ฯลฯ เมื่อกระแสชาสมุนไพรกระจายไปทั่ว ก็ยิ่งมีชาสมุนไพรตัวใหม่ๆ ออกมา อาทิ เจียวกู่หลาน ดอกขี้เหล็ก ตะไคร้ รางจืด ใบหม่อน ดอกคำฝอย ฯลฯ
ชาสมุนไพรส่วนใหญ่ที่ใช้ส่วนดอกและใบ เตรียมได้ด้วยวิธีชง (infusion) สำหรับส่วนราก เหง้า เปลือก หรือส่วนอื่นๆ ที่มีลักษณะแข็ง ต้องเตรียมด้วยวิธีต้ม
ชาสมุนไพร ควรดื่มแบบร้อนเพื่อให้ได้กลิ่นหอมเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ชาสมุนไพร หลายชนิดก็นิยม ดื่มแบบเย็น โดยการใส่น้ำแข็ง หรือ นำชาไปปั่นพร้อมน้ำแข็ง ด้วยเครื่องปั่น